Air Jordan ประวัติการณ์ Jordan x Nike ที่เกือบไม่ได้เป็นจริง เมื่อพูดถึงรองเท้า Air Jordan ฉันไม่คิดว่าจะมีแฟนบาสเก็ตบอลผู้ชายที่ไม่รู้จักรองเท้าในตำนานคู่นี้ คงจะมีชื่อเสียงไปอีกนาน แต่เชื่อหรือไม่ว่าปรากฏการณ์ Air Jordan ไม่ได้มีความหมายอะไรมากนักอีกต่อไป วันนี้ Mendityl ย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์และเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้ Air Jordan เป็นสิ่งที่เรารู้จักในปัจจุบัน
Air Jordan ประวัติการณ์ Jordan x Nike ที่เกือบไม่ได้เป็นจริง
‘Michael Jordan’ Rookie ดาวรุ่งที่ยังต้องพิสูจน์ตัวเอง
คงไม่ต้องเสียเวลาอธิบายอีกแล้วว่า Michael Jordan คือใคร แต่ถ้าย้อนกลับไปในปี 1984 เขาคือเด็กหนุ่มนักบาสเก็ตบอลที่ได้ชื่อว่ายังเป็น “ดาวรุ่ง” หลังจากที่สร้างชื่อเสียงด้วยการพาทีมบาสเก็ตบอลของมหาวิทยาลัยนอร์ธ แคโรไลน่า คว้าแชมป์ระดับประเทศและยังได้ร่วมทีมชาติสหรัฐอเมริกาไปคว้าเหรียญทองโอลิมปิคในปีนั้นได้อีกด้วย แต่เครื่องหมายคำถามบนตัวเขาก็ยังคงมีอยู่ว่า เขาจะพิสูจน์ตัวเองบนเวทีลีกบาสเก็ตบอลเอ็นบีเอได้ดีแค่ไหน
อย่างไรก็ตาม ในปี 1984 นั้นเอง จอร์แดนได้รับการดราฟต์ตัวผู้เล่นเป็นอันดับที่สามโดยทีม Chicago Bulls (ชิคาโก้ บูลส์) อีกทั้งเขายังได้รับข้อเสนอจากแบรนด์รองเท้ายักษ์ใหญ่อย่าง Nike ที่ยินดีจ่ายเงินจำนวน 2.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นเงินจำนวนมหาศาลในขณะนั้น
‘แต่ผมชอบ adidas มากกว่า’
ไมเคิล จอร์แดน มีใจรักในแบรนด์รองเท้า adidas มาโดยตลอด และฝันว่าเขาจะได้เซ็นสัญญากับ adidas เมื่อตัวเองได้เทิร์นโปรเข้าสู่เอ็นบีเอ เขายอมรับตามตรงว่าไม่ได้มีใจอยากที่จะเดินทางไปเจรจากับ Nike เลยแม้แต่น้อย แต่ที่เขาจำใจขึ้นเครื่องบินพร้อมกับเอเย่นต์ส่วนตัวไปหา Nike นั่นเพราะพ่อแม่ของเขาขอร้องแกมบังคับให้เขาต้องไปให้ได้ ฝ่ายเอเย่นต์อย่าง David Falk ก็พยายามโน้มน้าวให้จอร์แดน “ลองคุยกับ Nike ดูหน่อยเถอะนะ”
แม้จอร์แดนได้รับข้อเสนออันแสนวิเศษจาก Nike แต่เขายังคงลังเลและยังคงรักมั่นใน adidas เขาบอกให้ Nike รอไปก่อน แล้วก็ย้อนติดต่อกลับไปยัง adidas อีกครั้งเพื่อหวังว่า adidas จะให้ข้อเสนอที่ใกล้เคียง แม้สักนิดก็ยังดี แต่สุดท้าย adidas กลับบอกปฏิเสธอย่างเจ็บปวด และนั่นทำให้ Michael Jordan จำต้องตอบรับข้อเสนอของ Nike แบบไม่ค่อยจะเต็มใจนักในที่สุด สิ่งที่ตามมาหลังจากนั้นจึงกลายเป็นตำนานที่ครั้งหนึ่ง “เกือบ” จะไม่ได้เป็นจริงนั่นเอง
Air Jordan I
รองเท้าคู่แรกของ franchise ‘Air Jordan’ เป็นรองเท้าที่มีข้อขัดแย้งเกิดขึ้นมากมาย แต่นั่นเองคือส่วนสำคัญที่ทำให้รองเท้ารุ่นนี้โด่งดังเป็นพลุแตกตั้งแต่ปีแรกที่เริ่มวางจำหน่าย ตัวจอร์แดนใส่รองเท้า Air Jordan I สีดำคาดแดงลงแข่งขันในรายการบาสเก็ตบอลเอ็นบีเอ ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนกฎข้อบังคับของเอ็นบีเอเรื่องสีของรองเท้าที่ทางเอ็นบีเอกำหนด ทำให้จอร์แดนจำเป็นต้องจ่ายเงินค่าปรับ 5,000 เหรียญสหรัฐฯในทุกๆนัดที่จอร์แดนใส่รองเท้าคู่นี้ลงแข่งขัน แต่นั่นเหมือนเป็นการ “เตะอ้อยเข้าปากช้าง” ให้ Nike โดยแท้เพราะ Nike ยินดีเหลือเกินที่จะจ่ายเงินค่าปรับจำนวนนี้ตลอดฤดูกาล แล้วก็นำจุดนี้ไปทำการตลาดด้วยการทำโฆษณาอันมีข้อความว่า “โชคดีที่เอ็นบีเอไม่สามารถห้ามคุณไม่ให้ใส่รองเท้าคู่นี้ได้” แล้วรองเท้า Air Jordan I from Nike ก็ขายดิบขายดีราวกับแจกฟรีทั้งๆที่ถือเป็นรองเท้าบาสเก็ตบอลที่มีราคาแพงที่สุดในยุคนั้น ฟากฝั่ง adidas ที่เป็นคู่แข่งคนสำคัญก็ได้แต่มองตาปริบๆนับแต่นั้นเป็นต้นมา
อย่างไรก็ตามมีบางฝ่ายออกมาตั้งข้อสงสัยว่าเรื่องราวเหล่านั้นเป็นความจริงมากน้อยแค่ไหน เพราะนอกเหนือจากเอกสารที่เอ็นบีเอตั้งท่าขู่ว่าจะเอาผิดทาง Nike และไมเคิล จอร์แดน แต่เอาเข้าจริงก็ไม่ได้มีหลักฐานที่ชัดเจนแจ่มแจ้งว่าเอ็นบีเอได้สั่งปรับ Nike จริงๆในเรื่องนี้ แต่ยังไงก็เถอะ สีดำคาดแดงก็ถือเป็นสีที่ผิดระเบียบจริงๆ และก็ไม่แปลกที่จะตั้งชื่อเล่นให้รองเท้ารุ่นนี้ว่า ‘Banned’
ผลประโยชน์มหาศาลกับการแบ่งเค้กที่พิเศษสุด
ด้วยความสำเร็จในเรื่องกีฬาของ Michael Jordan นับตั้งแต่ปี 1984 จนถึงวันที่เขารีไทร์ตัวเอง ผนวกกับความสำเร็จในการขายรองเท้าบาสเก็ตบอลจนเกิดผลกำไรมหาศาล ทำให้ความยิ่งใหญ่ของแบรนด์อย่าง Air Jordan ในปัจจุบันนั้นมีมากถึงขนาดที่มีการกล่าวกันว่า Air Jordan ไม่จำเป็นต้องมี Nike คุ้มกะลาหัวก็สามารถอยู่รอดได้อย่างสบายๆ ทำให้หลายครั้งเราจึงได้เห็นการทำตลาดที่ค่อนข้างแยกออกจากกันระหว่าง Nike และ Air Jordan จนถึงกับมีข้อถกเถียงกันอยู่เสมอว่า ณ ขณะนี้ Air Jordan กับ Nike ยังคงเป็นกิจการเดียวกันอยู่หรือไม่ ทั้งสองแบรนด์แยกออกจากกันเด็ดขาดแล้วหรืออย่างไร
ความจริงแล้ว Air Jordan ยังคงอยู่ใต้ชายคาของ Nike แต่เป็นชายคาที่เหมือนเป็น “บ้านเล็ก” ที่แยกตัวออกมา นั่นก็เพราะ Nike ได้ยินยอมตั้งบริษัทย่อยขึ้นมาเพื่อบริหารแบรนด์ Air Jordan โดยเฉพาะ โดยมีทางฟาก Nike เป็นผู้ถือหุ้น และต้องจ่ายค่า Royaties ให้แก่ Michael Jordan สำหรับรองเท้าทุกคู่ที่จำหน่ายได้ภายใต้แบรนด์ Air Jordan ตลอดไป ชนิดที่เรียกว่ากะหากินกันอย่างถาวรกันไปเลย ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เราหาไม่ได้จากนักกีฬาคนอื่นๆ เพราะอันที่จริงการ Collaboration ระหว่างนักกีฬากับแบรนด์สินค้ากีฬานั้น ส่วนใหญ่จะเป็นเพียงการเซ็นสัญญาที่มีกำหนดระยะเวลา เมื่อหมดสัญญาก็ตัวใครตัวมัน แต่ลักษณะการจับมือกันของ Air Jordan และ Nike นั้นคือระบบที่มีความถาวรชนิดที่เรียกว่า “อยู่ด้วยกันตลอดไปตราบเท่าที่ชื่อ Air Jordan ยังขายได้” นั่นเอง ซึ่งวิธีนี้มีผลดีต่อทั้งสองฝ่าย คือ แง่หนึ่ง Nike ได้ผลประโยชน์จากส่วนแบ่งกำไรของยอดขายรองเท้า Air Jordan ตลอดไปโดยไม่ต้องกลัวว่าจอร์แดนจะย้ายไปซบค่ายอื่น ส่วนฝั่ง Michael Jordan เองก็ไม่ต้องมาคอยกังวลกับการโดนยกเลิกสัญญาหรือมีปัญหาค่าลิขสิทธิ์กับ Nike ในระยะยาวด้วยนั่นเอง
บทสรุปของตำนานที่ยังคงเดินหน้าต่อไป
ความนิยมชมชอบในเรื่องของกีฬาบาสเก็ตบอล และฝีมือที่ฉกาจฉกรรจ์จนถึงขั้นที่มีแฟนกลุ่มใหญ่ยกย่องว่าเป็น “นักบาสเก็ตบอลที่เก่งที่สุดในประวัติศาสตร์ NBA” จึงไม่แปลกที่ Michael Jordan จะประสบความสำเร็จในเรื่องเกมส์กีฬา และเกมส์ธุรกิจ ด้วยสูตรผสมที่ลงตัวและการเข้ามาช่วยเหลือของยักษ์ใหญ่ในวงการแฟชั่นเครื่องกีฬาอย่าง Nike ทำให้ทุกวันนี้ Michael Jordan ยังคงเป็นนักบาสเก็ตบอลที่ทำเงินได้สูงที่สุดในโลก แม้ตัวเขาจะเลิกเล่นบาสเก็ตบอลอาชีพไปนานมากแล้วก็ตาม และ MenDetails เองก็เชื่อว่ามันก็จะยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไป และด้วยรูปแบบการร่วมกันทำธุรกิจที่แตกต่างจากการเซ็นสัญญา Collaboration กันธรรมดาแบบนี้ เชื่อเถอะว่าถึง Jordan จะลาจากโลกนี้ไปแล้ว แต่แบรนด์ Air Jordan จะยิ่งกลายเป็น icon ที่ยิ่งใหญ่มากกว่าทุกวันนี้อีกหลายเท่า และลูกหลานของไมเคิล จอร์แดนก็คงรวยไม่รู้เรื่องต่อไปไม่จบไม่สิ้นแน่นอน